ไม้อัด มอก. หรือ ไม้อัดเต็มมิล คือไม้อัดยางที่ได้ผ่านกระบวนการผลิต และการทดสอบตามมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. 178-2549 โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่องของคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความกว้าง (มม), ความยาว(มม), ความหนา(มม), ความชื้น, และการยึดติดของกาว ฯลฯ ราคาไม้อัด มอก จะแตกต่างกันตามประเภทและคุณสมบัติของไม้อัด
ไม้อัด มอก. นั้นแบ่งเป็น 4 ประเภทตามกาวที่ใช้ในการผลิต โดยมีประเภทต่างๆ ตามนี้
1)ประเภทภายนอก- ใช้กาวที่ทนทานต่อลมฟ้าอากาศ น้ำเย็น น้ำเดือด ไอน้ำ และความร้อนแห้ง ได้ดี เหมาะสำหรับใช้ภายนอกอาคารหรือในที่ซึ่งถูกน้ำหรือละอองน้ำ
2)ประเภททนความชื้น- ใช้กาวที่ทนทานต่อลมฟ้าอากาศ น้ำเย็น น้ำเดือด ไอน้ำ ในเวลาจำกัด เหมาะสำหรับ ใช้ภายในอาคารและภายนอกอาคารหรือในที่ซึ่งถูกน้ำหรือละอองน้ำเป็นครั้งคราว
3)ประเภทภายใน-ใช้กาวที่ทนน้ำเย็นได้ดีพอสมควร ทนทานในน้ำร้อนได้ ในเวลาจำกัดไม่ทนในน้ำเดือด เหมาะสำหรับใช้ภายในอาคารหรือในที่ซึ่งไม่ถูกน้ำละอองน้ำ
4)ประเภทชั่วคราว-ใช้กาวที่ทนน้ำเย็นได้ในเวลาจำกัด เหมาะสำหรับใช้งานชั่วคราว
ทั้งนี้ ในการแยกประเภทไม้อัด มอก. 178-2549 จะดูจากการยึดติดของกาวในสภาวะการใช้งานต่างๆ เป็นหลัก เช่น ในกรณีไม้อัดภายนอก ชั้นกาวต้องยึดติดกันแน่นถึงแม้ว่าไม้อัดจะโดนน้ำ อย่างไรก็ตามทางมาตรฐานจะไม่ครอบคลุมถึงสภาพเนื้อไม้ หรือความเสี่ยงต่อเชื้อรา และแมลง ในการใช้ไม้อัดในสภาพแวดล้อมต่างๆ
ปัจจุบันประเภทไม้อัด มอก. ที่พบเห็นกันบ่อยๆ ในเสป็กงานราชการ จะเป็นไม้อัด มอก.ประเภทภายใน และประเภทภายนอก โดยไม้อัด มอก. นั้นมีทั้งแบบเปลือย และแบบปิดผิวด้วยวีเนียร์ไม้ธรรมชาติต่างๆ เช่น ไม้สักธรรมชาติ และไม้สักอิตาลี
นอกจากนี้ ไม้อัด มอก. แต่ละประเภทยังมีการแบ่งชั้นคุณภาพ เป็น 4 ชั้นคุณภาพตามลักษณะของไม้บางที่ทำเป็นไม้หน้าและไม้หลัง โดยมีจุดมุ่งหมายในการนำไปใช้งานดังต่อไปนี้
- ชั้นคุณภาพ 1 เหมาะสำหรับงานที่ต้องการ แสดงผิวหน้าไม้
- ชั้นคุณภาพ 2 เหมาะสำหรับงานที่ไม่ควรทาสีทับหรือ ปิดผิวหน้าไม้
- ชั้นคุณภาพ 3 เหมาะสำหรับงานที่ต้องทาสีหรือปิดทับผิวหน้าไม้ หรือที่ๆ ไม่อาจเห็นผิวหน้านั้นได้
- ชั้นคุณภาพ 4 เหมาะสำหรับงานที่ผิวหน้าไม้ ไม่มีความสำคัญ
หมายเหตุ-ไม้ตระกูลสน ไม่ต้องพิจาณาตำหนิเรื่องตาในการแบ่งชั้นคุณภาพ